ความเป็นมาของวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

       จังหวัดสระแก้วเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยชุมชน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัย ชุมชนสระแก้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2544 และให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดหาและคัดเลือกสถานศึกษา เพื่อเป็นวิทยาลัยชุมชนจังหวัดสระแก้วคณะกรรมการได้ประชุมมีมติให้ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้วเป็นวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ในระยะแรกให้ปฏิบัติภารกิจเดิมควบคู่กับภารกิจของวิทยาลัยชุมชนจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มจัดการศึกษาระดับอนุปริญญาและหลักสูตรระยะสั้นมาตั้งแต่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545

       ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2547 วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว แยกการดำเนินงานจากศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว ซึ่งจังหวัดสระแก้วโดยนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายศานิตย์ นาคสุขศรี ประธานกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว และคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการโดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมพิจารณาจัดหาพื้นที่ให้วิทยาลัยชุมชนสระแก้วประกอบกับจังหวัดสระแก้วมีนโยบายให้พื้นที่ที่อยู่ในส่วนของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้วเป็นอุทยานการศึกษาของจังหวัดสระแก้ว จึงมีมติให้ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวรชายแดนจังหวัดสระแก้วแบ่งพื้นที่ให้วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว จำนวน 43 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา พร้อมอาคารเรียนจำนวน 3 หลัง ห้องน้ำจำนวน 2 หลัง และบ้านพักข้าราชการจำนวน 11 หลัง ซึ่งในส่วนของบ้านพักข้าราชการให้ข้าราชการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสระแก้ว และศูนย์วิทยาศาสตร์การศึกษาจังหวัดสระแก้วพักอาศัยอยู่ต่อไปจนกว่าจะไม่มีความต้องการซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และแต่งตั้งผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 พร้อมทั้งข้าราชการครู บุคลากรเข้าปฏิบัติงานในวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 เป็นต้นมา 

       วิทยาลัยชุมชนเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ชุมชนใช้ในการพัฒนาคน ชุมชน สังคม และท้องถิ่นอย่างยั่งยืน วิทยาลัยชุมชนเป็นของชุมชน บริหารจัดการโดยชุมชน จึงนับว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ในการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดการศึกษาในระบบเครือข่ายมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของชุมชนในจังหวัดก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง เป็นการรวมพลัง ความคิด และก่อให้เกิดพลังปิติในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการนำความรู้จากภูมิปัญญา ท้องถิ่นมาผสมผสานและปรับปรุงให้เป็นความรู้ใหม่ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ พัฒนาอาชีพที่ทำอยู่ หรือสร้างอาชีพใหม่ ๆ ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต วิทยาลัยชุมชนมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของชุมชนเพื่อนำไปแก้ปัญหาของชุมชน เป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วิทยาลัยชุมชนจึงเปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยทุกระดับการศึกษา